กีฬาเอเชียนเกมส์ 2018 เป็นการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 18 จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 18 สิงหาคม – 2 กันยายน พ.ศ. 2561 โดยจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันหลัก ในขณะที่ปาเลมบัง และบันดุง จะเป็นเมืองช่วยจัดการแข่งขัน
อินโดนีเซียได้รับการอนุมัติจากสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย ให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2557 โดยเลือกที่จะจัดการแข่งขันในปี 2018 มากกว่าการวางแผนเดิมที่จัดในปี 2019 เนื่องจากเกรงว่าจะจัดการแข่งขันชนกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย
แต่เดิมฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพ แต่เนื่องจากปัญหาด้านเศรษฐกิจและข้อจำกัดทางการเงิน ทำให้ต้องประกาศยกเลิกการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในเวลาต่อมา
จากเดิมจะมีการประกาศเปิดตัวมาสคอตและโลโก้ประจำการแข่งขันครั้งนี้ในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2558 แต่เลื่อนออกไปเป็นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากการสูญหายไปของอินโดนีเซียแอร์เอเชีย เที่ยวบินที่ 8501
สภาโอลิมปิกแห่งเอเชียได้คัดเลือกเมืองเจ้าภาพเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 (ค.ศ. 2012) ณ เขตบริหารพิเศษมาเก๊า โดยนครดูไบ ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขอถอนตัวในนาทีสุดท้าย
ภายหลังฮานอย ได้สิทธิเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน คณะกรรมการจัดการแข่งขันของเวียดนาม ได้มีการประเมินงบประมาณค่าใช้จ่ายสำหรับจัดการแข่งขัน ราวๆ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสิ่งอำนวยความสะดวกหลายๆอย่าง จะถูกสร้างและพัฒนาขึ้นสำหรับการแข่งขันในครั้งนี้ และมีแผนการสร้างหมู่บ้านนักกีฬาที่มีความจุ 11,100 คน
ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 ฝ่ายนิติบัญญัติของเวียดนาม เกรงว่าอาจต้องใช้งบประมาณถึง 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากๆ นอกจากนี้สนามแข่งขันที่จะใช้จัดการแข่งขันครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นสนามใหม่ ไม่ได้ถูกใช้ในกีฬาซีเกมส์ 2003 ถือเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณในการก่อสร้าง นอกจากนี้อดีตประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งเวียดนาม ยังออกมากล่าวว่า จุดประสงค์ของการจัดการแข่งขันครั้งนี้ไม่ได้สนับสนุนในเรื่องของการท่องเที่ยวในเวียดนาม
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2557 ประธานกรมสามัญการกีฬาและการฝึกอบรมทางกายภาพของเวียดนาม ออกมาแสดงความมั่นใจว่า 80% ของสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีอยู่และงบประมาณ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐก็เพียงพอสำหรับการจัดการแข่งขัน อีกทั้งธนาคารโลก ออกมาประกาศว่า ไม่มีเงินให้เวียดนามกู้ยืมสำหรับนำไปใช้เป็นงบประมาณก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อจัดการแข่งขันครั้งนี้
ในที่สุด วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2557 เหงียน เติ๊น สุง นายกรัฐมนตรีของเวียดนาม ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการ ขอถอนตัวจากการเป็นเจ้าภาพการแข่งขัน โดยเขาอ้างว่าปัญหาเศรษฐกิจและภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ต้องถอนตัวจากการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันครั้งนี้ หลังจากการตัดสินใจดังกล่าว ได้มีสถิติออกมาว่า ประชาชนของเวียดนามส่วนใหญ่ เห็นด้วยสำหรับการตัดสินใจถอนตัวในครั้งนี้
สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย ได้ประกาศว่าจะไม่มีค่าปรับที่ใช้เป็นบทลงโทษสำหรับการถอนตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน
อินโดนีเซียได้รับการพิจารณาอย่างเป็นที่ชื่นชมจากสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย หลังจากเมืองสุราบายา พ่ายแพ้ในการลงคะแนนไปเมื่อปี 2012 ในขณะที่ฟิลิปปินส์ ก็มีความสนใจในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2557 แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ
อินเดียได้แสดงท่าทีสนใจในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน และรอการอนุมัติจากรัฐบาล ซึ่งกรุงนิวเดลี ถือเป็นเมืองจัดการแข่งขันกีฬาที่มีศักยภาพ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 อินเดียล้มเหลวในการเสนอราคาจัดการแข่งขัน
จีนไทเป ออกมาแสดงท่าทีว่า จะใช้เวลาหนึ่งเดือนสำหรับการประเมินความเป็นไปได้ในการจัดการแข่งขัน เมืองอื่น เช่น นิวไทเป ซีตี พร้อมสำหรับการจัดการแข่งขันเอเชียนเกมส์ 2022
หลายประเทศถูกพิจารณาตัดออกไปจากการคัดเลือก เช่น พม่า ที่ได้พิจารณาถึงความเชี่ยวชาญและกำลังคนในองค์กรที่น้อยเกินไป, ไทย ระบุว่าเวลา 5 ปี ไม่เพียงพอสำหรับการเตรียมการจัดการแข่งขัน แต่ในเอเชียนเกมส์ 2022 ไทยก็พร้อมใช้ จังหวัดชลบุรี สำหรับการเสนอตัวจัดการแข่งขัน, ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ไม่มีความสนใจในการจัดการแข่งขัน เนื่องจากญี่ปุ่น วางแผนจัดการแข่งขันโดยให้ความสำคัญกับรักบี้ชิงแชมป์โลก 2019 และโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 มากกว่า ส่วนสิงคโปร์ มุ่งเน้นไปที่ซีเกมส์ 2015
เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ในระหว่างการประชุมของสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย ที่กรุงคูเวตซิตี, คูเวต ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่า จะแต่งตั้งจาการ์ตา, อินโดนีเซีย เป็นเมืองเจ้าภาพหลักสำหรับการแข่งขันในครั้งนี้ และใช้เมืองปาเลมบัง และบันดุง เป็นเมืองที่ใช้เป็นบางส่วนของสนามแข่งขัน เพราะสิ่งอำนวยความสะดวก การคมนาคมและการขนส่งพร้อมสำหรับการจัดการแข่งขัน แต่เลื่อนจากแผมเดิมจะจัดในปี 2019 มาเป็นปี 2018 เนื่องจากในปี 2019 อินโดนีเซียจะหมกมุ่นอยู่กับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และจาการ์ตา เท่านั้นที่พร้อมสำหรับการจัดการแข่งขัน เพราะมีเวลาค่อนข้างน้อยที่จะปรับปรุงและพัฒนาสนามกีฬา หากใช้เมืองอื่น เกรงว่าน่าจะมีปัญหา
เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2558 อินโดนีเซียได้ลงนามในสัญญาเมืองเจ้าภาพเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 18 โดยประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งอินโดนีเซีย ริตา ซูโบโว, ผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตา บาซูกิ ทัจฮาจา ปัวนามา และผู้ว่าการเกาะสุมาตรา อเล็กซ์ นอเออดิน ต่อมาในพิธีปิดเอเชียนเกมส์ 2014 อินโดนีเซียได้รับธงส่งต่อจากเกาหลีใต้ เป็นสัญลักษณ์ถึงเจ้าภาพครั้งต่อไป
เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย ได้เดินทางไปสำรวจเมืองต่างๆ ของอินโดนีเซียที่พอจะเป็นไปได้สำหรับการเป็นเมืองเจ้าภาพจัดการแข่งขัน เช่น จาการ์ตา, สุราบายา, บันดุง และปาเล็มบัง แต่สุราบายาตัดสินใจถอนตัวเนื่องจากมุ่งเน้นการเป็นเจ้าภาพเอเชียนยูธเกมส์ 2021
ทั้งนี้อินโดนีเซีย เคยเป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์ครั้งล่าสุด เมื่อครั้งเอเชียนเกมส์ 1962 ซึ่งเป็นครั้งที่ 4 ของการจัดการแข่งขันเอเชียนเกมส์
เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2558 ทางการอินโดนีเซีย ออกมาประกาศว่าหมู่บ้านนักกีฬาและศูนย์กีฬาทางน้ำจะได้สร้างขึ้นใน เคมาโยราน ตำบลแห่งหนึ่งในจาการ์ตา นอกจากนี้จะใช้เป็นศูนย์กลางสื่อสารสำหรับการแข่งขันอีกด้วย และคาดว่าการจัดแข่งขันครั้งนี้จะไม่ใช้งบประมาณมากเนื่องจากสนามกีฬาที่ใช้แข่งขัน ส่วนใหญ่มีอยู่เดิมและสร้างขึ้นเพื่อจัดการแข่งขันซีเกมส์ 2011
การเร่งก่อสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนจาการ์ตา จะเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมในการจัดการแข่งขันครั้งนี้ในด้านการขนส่ง ปาเลมบังจะเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกในการขนส่งโดยสร้างรถไฟฟ้ารางเบา 24.5 กิโลเมตร จากท่าอากาศยานนานาชาติสุลต่านมุฮัมหมัด บาดารูดดินที่ 2 ไปยังจากาบาริงสปอร์ตซิตี สิ่งอำนวยความสะดวกในการขนส่งอื่น ๆ เช่น อุโมงค์, ทางยกระดับและสะพาน จะถูกสร้างขึ้นอยู่ในเมือง
รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณ 3 ล้านล้านรูเปียห์เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันกับการบริหารงานในระดับภูมิภาคยังคาดว่าจะจัดหาเงินทุน
การแข่งขันครั้งนี้ จะประกอบไปด้วย กีฬาชนิดที่ใช้แข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ จำนวน 29 ชนิด และกีฬาที่ไม่ใช้แข่งขันขันในโอลิมปิกอีก 8 ชนิด นอกจากนี้ยังเป็นครั้งแรกที่มีการบรรจุกีฬาปันจักสีลัตและบริดจ์ เพื่อแข่งขันในเอเชียนเกมส์ อีกด้วย